ในขณะที่นั่งทำงานผม (ทิตจิ้ม) อยากรู้ว่าคนที่อยู่หมู่บ้านพฤกษา มีเว็บไซด์ มีบล๊อกที่ไหนบ้างไหม
อยากเปิดโลก เลยมาหยุกตรงที่พฤกษา 20 มีข้อมูลดีดี
เผยแพร่ไว้ จึงขออนุญาต จากคณะผู้จัดทำเวบ พฤกษา 20 ด้วยครับ
เพื่อนำมาลงเรื่องราวของชมรมดอกไม้ริมทาง พฤกษา 14 บี

กูรูเรื่องบ้าน งัดเคล็ดดูแลบ้านง่ายๆ แถมใช้ตังค์น้อย
บ้าน เปรียบเสมือนรังรักอันอบอุ่น ที่ทุกครอบครัวจะได้ใช้ชีวิตส่วนตัว และทำกิจกรรมอยู่ร่วมกัน แต่ในขณะเดียวกัน บ้านก็เป็นสถานที่ที่สมาชิกทุกคนต้องช่วยดูแล และรักษาเช่นกัน ดังนั้นเมื่อบ้านมีปัญหา เช่น ประตูเสีย ลูกบิดหลุด ผนังร้าว หลังคารั่ว ไม่ว่าผู้ชาย หรือผู้หญิงต่างมีบทบาทไม่แพ้กันกับการจัดการซ่อมแซมบ้านง่ายๆ ให้กลับมามีสภาพปกติ

แต่ถ้าหากครอบครัวใด เป็นครอบครัวมือใหม่ ที่ก่อร่างสร้างตัว จนมีบ้านส่วนตัว และพบว่า วันหนึ่ง บ้านเกิดมีน้ำรั่วซึม ปูนแตก หลุดล่อน หรืออื่นๆ ไม่ต้องกังวลครับ เพราะทีมงาน Life and Family ได้พูดคุย พร้อมปรึกษากับกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลบ้าน อย่าง "คุณสำเริง ฤทธิ์พริ้ง" วิศวกรโยธา (สามัญวิศวกร) วุฒิสมาชิกของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)
ปัจจุบัน จัดรายการรู้รอบบ้าน และช่างรู้...คู่บ้านทางคลื่นวิทยุ FM 99.0 MHz (เสาร์-อาทิตย์ 16.00-17.00 น.) และ FM 90.5 MHz (วันอาทิตย์ 11.00-12.30,15.00-16.00 น.) ที่วันนี้จะมาให้คำแนะนำเรื่องการดูแลบ้านง่ายๆ ด้วยตัวเอง แถมใช้เงินน้อย มาฝากทุกครอบครัวกันครับ
คุณสำเริง บอกว่า ปัญหาเรื่องบ้าน ที่ทุกบ้านพบได้บ่อย มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่องหลัก คือ ปัญหาร้าว รั่ว และร้อน ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทั้งสามี และภรรยา ต่างช่วยกันซ่อมแซมกันได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักจะหันไปพึ่งช่างฝีมือนอกบ้านกันมากกว่า ทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ ดังนั้นเมื่อในบ้านมีวัสดุดี เครื่องมือดี เทคนิคดี และช่างฝีมือ (ตัวเรา) ดี ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับบ้าน ก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายทันที
"สมมติ ว่าก๊อกเครื่องซักผ้ารั่ว ถ้าเกิดเราไปจ้าง ก็อาจจะหาช่างยาก และถึงแม้หามาได้ ก็เรียกราคาซ่อมที่สูง แต่ถ้าเรารู้เทคนิค และค้นหาแหล่งซื้อวัสดุซ่อมแซมดีๆ ก็สามารถนำมาซ่อมด้วยตัวเองได้ เป็นการประหยัดงบได้ส่วนหนึ่ง" คุณสำเริงบอก
ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางให้กับคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ "คุณสำเริง" ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแล และซ่อมแซมบ้านด้วยตัวเองง่ายๆ และเสียเงินน้อยว่า
*** ถ้าเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมจากการปูกระเบื้องใหม่
วิธีแก้ไข คือ คือ ให้ทำระบบกันซึม ก่อนการปูกระเบื้องในห้องน้ำ โดยทาซิเมนต์กันซึมบนพื้นปูน โดยเฉพาะรอบๆ บริเวณท่อน้ำทิ้ง ท่อชักโครก พื้นชนผนัง โดยทาจำนวน 2 ครั้ง จากนั้นปูกระเบื้องด้วยกาวซิเมนต์ และยาแนวร่องกระเบื้องตามลำดับ
*** ปัญหาน้ำรั่วซึมจากดาดฟ้า
บ้านที่มีน้ำรั่วซึมจากดาดฟ้า ให้ทำความสะอาดพื้นดาดฟ้าให้ปราศจากตะไคร่น้ำ หรือเม็ดทราย จากนั้นสำรวจรอยแตกร้าวของพื้น เมื่อพบสาเหตุให้ซ่อมแซมรอยแตกร้าว เพื่อป้องกันการรั่วซึม
*** ปัญหาปูนแตก หลุดล่อน บริเวณพื้นใต้ดาดฟ้าจนเห็นเหล็กเป็นสนิม
ขั้นแรกให้เซาะปูนขยายพื้นที่เพิ่มในบริเวณที่มีความแข็งแรงอยู่ ทำความสะอาดสนิมเหล็ก หรือเสริมเหล็กในขนาดเดียวกัน ห้ามตัดเหล็กเส้นเดิมออก แต่ให้ใช้วิธีเพิ่มเหล็กแทน ทาน้ำยาประสานคอนกรีต ซึ่งจะทำให้ปูนมีความชื้น จากนั้นให้ฉาบด้วยปูนซ่อมโครงสร้าง
อย่างไรก็ดี คุณสำเริง ยังบอกถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวบ้าน ในกรณีบ้านทรุดว่า คุณพ่อ หรือคุณแม่บ้าน สังเกตได้ง่ายด้วยตัวเอง คือ ถ้าบ้านทรุด ผนังชั้นล่างจะเกิดรอยร้าว ทำมุมเฉียงๆ 45 องศา มีรอยร้าวยาวมากขึ้น และกว้างมากขึ้น ประตู หรือหน้าต่างเริ่มปิดไม่เข้า มีเศษปูนร่วงหล่นทั้งใน และนอกบ้าน เมื่อสังเกตนอกบ้าน จะเห็นว่า บ้านเริ่มมีลักษณะเอียง งานระบบท่อเริ่มแตก หักเสียหาย ที่สำคัญ อาจมีเสียงสั่นดังของอาคาร เป็นต้น ซึ่งถ้ามีความผิดปกติให้รีบโทรแจ้งช่างมาตรวจสอบโดยเร็ว
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ขณะเดียวกัน เรื่องของรอยร้าว บางคนกังวล และกลัวว่าตัวบ้านจะมีปัญหา กับเรื่องนี้ คุณสำเริงอธิบายว่า รอยร้าวบางชนิดไม่อันตรายอย่างที่คิด เช่น รอยแตกลายงาของผนัง (รอยแตกเล็กๆ) รอยแตกตามมุมวงกบ รอยร้าวทางราบ และทางดิ่ง รอยต่ออาคารเก่า-ใหม่ อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดรอยร้าวดังกล่าว ให้ทำการซ่อมแซมด้วย อะครีลิค หรือ โพลี ยูริเทนแทน
ดังนั้นอุปกรณ์สามัญประจำบ้านที่พ่อแม่ต้องมีไว้ก็คือ อะครีลิคกันรั่วซึม โพลี ยูริเทน ปูนซ่อมอเนกประสงค์ ซิลิโคนทั่วไป กาวลาเท็กซ์ กาวยาว เทปพันสายไฟ อะครีลิค อุดโป๊วผนัง พุกพลาสติก (พุกตัวหนอน) เป็นต้น
สำหรับเครื่องมือสามัญประจำบ้านที่ต้องมี เข่น ค้อนตอก-ถอนตะปู ตลับเมตร มีดคัตเตอร์ ประแจปากตายทุกขนาด (เน้นเบอร์ 10 และ 12) บันไดอลูมิเนียม คีมปากจิ้งจก เกรียงโป๊วสี ปืนยิงซิลิโคน เกรียงใบโพธิ์ สว่านไฟฟ้าขนาดเล็ก เลื่อยตัดเหล็ก ไฟฉาย เป็นต้น
*** แนะเคล็ดดูแล-บำรุงรักษาบ้านให้อยู่ดีมีสุข
- ควรสูบตะกอนออกจากถังบำบัดทุกๆ 2 ปี
- ควรตรวจดูปลวกทุกๆ 6 เดือน
- ควรสังเกตรอยร้าวของความผิดปกติตัวบ้าน หรือตัวอาคารตลอดเวลา เมื่อเกิดปัญหาให้ทำเครื่องหมายเอาไว้
- ทุกๆ 3 เดือน ควรปิดก๊อกน้ำในบ้าน เพื่อตรวจดูว่ามิเตอร์น้ำหมุนอยู่หรือไม่ ถ้ามิเตอร์หมุน แสดงว่า มีน้ำรั่วไหลเกิดขึ้น
- ไฟฟ้า ก็เช่นเดียวกัน ปิดไฟในบ้าน ถอดปลั๊ก แล้วดูว่า มิเตอร์หมุนหรือไม่ ถ้าหมุนแสดงว่า ไฟรั่ว
*** ข้อมูลประกอบข่าวเพิ่มเติม
วัสดุรอยต่อ ที่คุณพ่อ หรือคุณแม่บ้านควรรู้ ประกอบด้วย ชิลิโคน เหมาะกับการใช้งานประเภท กระจก กับกระจก อะคริลิก เหมาะกับการใช้งานรอยต่อไม้กับไม้ หรือไม้กับปูน เป็นต้น โพลียูรีแทน สามารถใช้งายได้หลายประเภท ที่มีความคงทน และยืดหยุ่นได้ดี และกาวตะปู เป็นวัสดุที่ใช้ในการติดวัสดุกับวัสดุประเภทต่างๆ แทนการใช้ตะปู

ข้อความนี้ไม่มีรูปภาพ ทิตจิ้มจะหารูปมาให้ดูในคราวต่อไปครับ