เมื่อเช้ากินข้าวแถวบิ๊กซี บางใหญ่ ได้อ่านหนังสือพิมไทยรัฐ ฉบับวันนี้
คอลัมน์ กิเลนประลองเชิง ที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ พุทธประวัติ
มาเล่าเปรียบเทียบในสถาณการณ์ปัจจุบันได้อย่างมีรสชาติ
อีกทั้งยังได้รู้เรื่องราวต่างๆๆในอดีตได้
คนหมู่บ้านพฤกษา 14Bหน้าอ่านมากๆๆ
ชื่อเรื่อง พิณสายที่สาม
ช่วงต้นๆของพุทธกาล พระยังเดินเท้าเปล่าอยู่ครับ จน กระทั่งมีลูกผู้ดีตีนแดง มีศรัทธากล้าแข็งมาบวช พระพุทธเจ้าจึงทรงยอมผ่อนปรนให้

ลูกผู้ดีชื่อโสณะ พ่อเป็นเศรษฐีเมืองจัมปา แคว้นอังคะ เลี้ยงดูอย่างดี อยู่ปราสาทสามฤดู กินอาหารชั้นดี นุ่งห่มผ้าแพร ผิวพรรณผุดผ่องเหมือนทองคำ ฝ่าเท้าอ่อนนุ่มสีแดงดังดอกชบา

ชำนาญในการดีดพิณ

เมื่อมาบวชอยู่กับพระพุทธเจ้าที่ป่าสีตะวัน เมืองราชคฤห์ ก็รู้จุดอ่อนตัวว่าอยู่ที่เคยอยู่สบาย จึงตั้งใจทำตัวให้ลำบาก เลือกเดินจงกรมบนพื้นดินหยาบ ขรุขระ จนฝ่าเท้าแตก

เดินไม่ได้ ก็ใช้เข่าเดิน ใช้มือค้ำยัน เข่าและมือก็แตกยับอีก พระโสณะโกฬิวิสะก็น้อยใจ

พระพุทธองค์เสด็จมา อนุญาตให้พระโสณะสวมรองเท้าชั้นเดียวได้ (พระจึงสวมรองเท้าได้มาจนถึงวันนี้) แล้วตรัสถามว่า "โสณะ สายพิณที่ขึงตึงเกินไป เวลาดีด เสียงจะดังไพเราะหรือไม่"

"ไม่ไพเราะ พระเจ้าข้า" พระโสณะกราบทูล

"โสณะ สายพิณที่ขึงหย่อนเกินไป เวลาดีด เสียงจะดังไพเราะหรือไม่"

"ไม่ไพเราะ พระเจ้าข้า"

"โสณะ สายพิณที่ขึงได้ระดับพอดี ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เวลาดีด เสียงจะดังไพเราะหรือไม่"

คราวนี้ พระโสณะกราบทูลว่า "ไพเราะ พระเจ้าข้า"

"เช่นเดียวกัน โสณะ" พระพุทธองค์ตรัสต่อไป "การบำเพ็ญเพียรก็เหมือนการขึงสายพิณ ถ้ามีความเพียรแรงกล้าเกินไป จิตก็ฟุ้งซ่าน ถ้ามีความเพียรหย่อนเกินไป จิตก็เกียจคร้าน

เพราะฉะนั้น เธอจึงบำเพ็ญเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ให้เสมอกันเถิด"

ไม่ช้าพระโสณะก็บรรลุอรหัตตผล ได้รับการยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะด้านปรารภความเพียร

เรื่องราวของพระโสณะ บอกพวกเราว่า การทำจิตให้สงบนิ่งจนถึงจุดหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ เทคนิคอยู่ที่ "ทางสายกลาง" ไม่ตึงไม่หย่อนเกิน นี่เอง

คำสอนเรื่องทางสายกลาง ผมเชื่อว่า นำมาใช้ได้กับการบำบัดทุกข์ให้บ้านเมือง

มนุษย์ปุถุชนมักจะรักโลภโกรธหลง อยู่ในวังวนของโลกธรรม มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ

เหตุแห่งปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องจีที 200 ที่พิสูจน์ว่าใช้สุนัขดีกว่า แต่ก็ยังจะดื้อใช้กัน กระทั่งคดียึดทรัพย์ ที่กำลังกลั้นใจรอลุ้นกัน ค่อยๆพิจารณากันดู...

เกิดจากอคติ...4 ลำเอียงเพราะชอบ ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะกลัว ลำเอียงเพราะหลง...ทั้งสิ้น

คนพวกนี้ ไม่รู้ดีรู้ชั่ว รู้แต่ว่า ถ้าเป็นพวกกู สีกู ทุกเรื่องดี ถ้าไม่ใช่พวกกู สีเดียวกับกู ทุกเรื่องชั่ว

เพราะคิดอย่างนี้ ไม้ล้างป่าช้าที่ขนซื้อกันดุ้นละเกือบล้าน เกินล้าน จึงทำท่าจะเป็นเรื่องถูกต้อง

พระท่านสอนว่า อคติ แปลแบบหนึ่ง การดำเนินไปในแนวทางที่ไม่สมควรไป เพราะเมื่อดำเนินไปแล้ว ย่อมทำให้หมู่คณะ กิจการ และความดีงาม ดำเนินต่อไปได้ยาก

อคติ เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองหรือผู้นำควรเว้น ถ้าเว้นไม่ได้ ความเป็นผู้ใหญ่ ความเป็นหลักความยุติธรรม ก็ไปไม่รอด...

บ้านเมืองเราวันนี้ จะไปรอดหรือไม่รอด ก็ฝากไว้กับใจที่ไร้อคติ ใจที่ยุติธรรมนี่แหละ.

กิเลน ประลองเชิง